ข้อมูลสุขภาพ

โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)

โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) 

            โรคหลอดเลือดสมองคือภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยงเนื่องจากหลอดเลือดแตก ตีบ อุดตัน ส่งผลให้เนื้อเยื่อใยสมองได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ เกิดการตายของเนื้อสมอง การทำงานของสมองหยุดชะงัก
ความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง ที่ทำให้สมองขาดเลือด แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท
- หลอดเลือดสมองตีบ หรืออุดตัน (Ischemic stroke) เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ ที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง พบได้ประมาณ 80% เกิดได้จากลิ่มเลือดที่ไหลเวียน ไปอุดตันที่หลอดเลือดสมอง หรือ เกิดจากการที่มีลิ่มเลือดก่อตัวในหลอดเลือดสมอง และอาจขยายใหญ่ขึ้นจนอุดตันหลอดเลือดสมอง อาจมีสาเหตุจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด  ทำให้หลอดเลือดตีบ แคบ มีความยืดหยุ่น และมีประสิทธิภาพในการลำเลียงลดลง
- หลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic stroke) พบได้ประมาณ 20 % ของโรคหลอดเลือดสมอง เกิดจากหลอดเลือดเปราะบาง และมีความดันโลหิตสูง ทำให้บริเวณนั้นบางพองและแตกออก หรืออาจเกิดจากหลอดเลือดเสียความยืดหยุ่นจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดปริแตกง่าย ซึ่งอันตรายมากเนื่องจากทำให้ปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงสมองลดลงอย่างฉับพลัน ทำให้เกิดเลือดออกในสมอง และส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็วได้


ปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง  
ปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันไม่ได้
- เมื่ออายุมากขึ้น หลอดเลือดจะเสื่อมตามไปด้วย โดยผิวชั้นในของหลอดเลือดจะหนาและแข็งขึ้นเกิดจาก ไขมันและหินปูนมาเกาะ ทำให้รูที่เลือดไหลผ่านจะแคบลงเรื่อยๆ
- เพศชายมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองสูงกว่าเพศหญิง
- ภาวะการแข็งตัวของเลือดเร็วกว่าปกติ ทำให้เกิดการจับตัวกันของเม็ดเลือดและมีลิ่มเลือดเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าคนปกติ
ปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันได้
- ความดันโลหิตสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดของโรคหลอดเลือดสมอง 
- เบาหวานเป็นสาเหตุที่ทำให้หลอดเลือดแข็งทั่วร่างกาย หากเกิดที่สมองจะมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าคนปกติ 2-3 เท่า
- ไขมันในเลือดสูง เป็นความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองเช่นเดียวกับโรคหลอดเลือดหัวใจ คือภาวะไขมันสะสมอยู่ตามผนังหลอดเลือด 
- โรคหัวใจ เช่น โรคลิ้นหัวใจผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นสาเหตุของการเกิดลิ่มเลือด ซึ่งลิ่มเลือดไปอุดตันที่หลอดเลือดสมอง อาจทำให้สมองขาดเลือดได้
- การสูบบุหรี่ สารนิโคตินและคาร์บอนมอนอกไซด์ทำให้ปริมาณออกซิเจนลดลง และทำลายผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแข็งตัว 
- ยาคุมกำเนิด ในผู้หญิงที่ใช้ยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองสูง
- โรคซิฟิลิส เป็นสาเหตุของหลอดเลือดอักเสบและหลอดเลือดแข็ง
- การขาดการออกกำลังกาย


อาการของโรคหลอดเลือดสมอง  
1. อ่อนแรง หรือ ชาครึ่งซีกของร่างกาย เช่นที่ใบหน้า และ/หรือ บริเวณแขนขา ทันทีทันใด 
2. พูดไม่ชัด ปากเบี้ยว มุมปากตก น้ำลายไหล กลืนลำบาก
3. อาการตามัว มองเห็นภาพซ้อนหรือครึ่งซีก หรือ มองไม่เห็นทันทีทันใด โดยเฉพาะที่เป็นข้างเดียว 
4. พูดตะกุกตะกัก พูดไม่ชัด นึกคำพูดไม่ออก หรือไม่เข้าใจคำพูด ทันทีทันใด 
5. ปวดศีรษะ บ้านหมุน เดินเซ ทรงตัวลำบาก หรือเป็นลม โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามี อาการที่กล่าวมาข้างต้นร่วมด้วย 

การตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมอง
 ในปัจจุบันมีวิธีการตรวจวินิจฉัยที่มีประสิทธิภาพและสามารถบ่งชี้ถึงตำแหน่งของสมองและหลอดเลือดที่ผิดปกติ รวมถึงภาวะและสาเหตุที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้ เช่น
การตรวจเลือดเพื่อดูความเข้มข้นและความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด
การตรวจระดับน้ำตาลและระดับไขมันในเลือด
การตรวจหาการอักเสบของหลอดเลือด
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ(Echocardiogram) เพื่อดูจังหวะการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ
การตรวจสมองด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) เพื่อดูว่าสมองมีภาวะขาดเลือดหรือภาวะเลือดออกในสมองหรือไม่
การตรวจอัลตราซาวนด์หลอดเลือดบริเวณคอ (carotid duplex scan) เพื่อดูขนาดและการไหลเวียนของหลอดเลือดแดงบริเวณคอที่ไปเลี้ยงสมองด้วยคลื่นความถี่สูง
การตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อดูเนื้อสมอง หลอดเลือดสมอง หลอดเลือดที่คอ เป็นวิธีการที่ไม่เจ็บปวดและมีประสิทธิภาพสูง



โปรแกรมตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง STROKE คลิก >> ตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง

คลิกอ่าน >> การรักษาโรคหลอดเลือดสมอง และป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ
คลิกอ่าน >> การดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง EP.1 การนอน
คลิกอ่าน >> การดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง EP.2 การออกกำลังเคลื่อนไหวข้อต่อ
คลิกอ่าน >> การดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง EP.3 การจัดสิ่งแวดล้อม และการป้องกันอุบัติเหตุ
คลิกอ่าน >> การดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง EP.4 การทำกิจวัตรประจำวัน
คลิกอ่าน >> การดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง EP.5 ปัญหาที่พบหลังการเจ็บป่วยและดูแล
คลิกอ่าน >> การให้อาหารผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
แผนกศัลยกรรม ชั้น 1 อาคารโรงพยาบาลอุบลรักษ์ ธนบุรี
โทร 045-429100 ต่อ 1145
แผนกอายุรกรรม ชั้น 1 อาคารโรงพยาบาลอุบลรักษ์ ธนบุรี
โทร 045-429100 ต่อ 1123, 1124